เกาะสมุย

เกาะพีพี

ปฏิทินของฉัน

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง






ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L.
ชื่อวงศ์ MALVACEAE
ชื่ออื่น ๆ กระเจี๊ยบ, กระเจี๊ยบแดง, กระเจี๊ยบเปรี้ยว (กลาง),
ผักเก็งเค็ง, ส้มเก็งเค็ง, ส้มตะเลง-เครง (ตาก),
ส้มปู (เงี้ยว,แม่ฮ่องสอน), ส้มเก็ง(เหนือ),
ส้มพอเหมาะ (เหนือ), ส้มพอดี (อีสาน) Jamaica sorrel,
Sorrel, Roselle, Rosella, Kharkade or karkade,
Vinuela, Cabitutu
ส่วนที่ใช้ กลีบรองดอก (calyx) หรือที่เรียกว่า ดอกกระเจี๊ยบ


การปลูก
กระเจี๊ยบแดงเป็นพืชไวแสงที่สามารถปลูกได้ทั่วไป ชอบอากาศร้อนหรือค่อนข้างร้อน ทนต่อความแห้งแล้ง และไม่ชอบน้ำขัง ใช้วิธีปลูกในแปลงปลูก โดยหยอดเมล็ดตามแถวที่ไถไว้ หยอดหลุมละประมาณ 4-5 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วกลบดินเล็กน้อย เมื่อกระเจี๊ยบแดงเป็นต้นอ่อนอาจถอนทิ้งหลุมละ 2-3 ต้น เพื่อให้ไม่แน่นมากนัก ควรให้น้ำสม่ำเสมอในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังจากนั้นจะปล่อยตามธรรมชาติ
นอกจากนี้ อาจปลูกในพื้นที่แปลงข้าวโพด เมื่อปลูกข้าวโพดแล้วประมาณ 1 เดือน โดยนำเมล็ดกระเจี๊ยบแดงผสมลงไปกับปุ๋ยข้าวโพด แล้วนำใส่เครื่องหยอดพ่วงกับรถไพเดินตาม หยอดตามช่องว่างระหว่างแถวข้าวโพด ต้นกระเจี๊ยบแดงจะเจริญเติบโตระหว่างแถวข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดแล้วกระเจี๊ยบแดงอยู่ในช่วงออกดอกพอดี
พันธุ์ที่ใช้
พันธุ์ซูดานหรือพันธุ์เกษตร เนื้อหนา มีสีแดงเข้มจนถึงม่วงลักษณะกลีบเลี้ยงค่อนข้างหนา เนื้อบาง มีสีแดงสด ลักษณะกลีบเลี้ยงค่อนข้างบาง
การเก็บเกี่ยว
ควรเก็บเกี่ยวในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ คือ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวใช้เวลา 4 เดือน ถึง 4 เดือนครึ่ง ซึ่งการเก็บเกี่ยวกระเจี๊ยบแดงสามารถทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1. เก็บเกี่ยวเฉพาะดอกกระเจี๊ยบแดง ใช้กรรไกรหรือมีดตัดเฉพาะดอกกระเจี๊ยบที่แก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว
2. เก็บเกี่ยวทั้งต้นกระเจี๊ยบ เกษตรใช้เคียวเกี่ยวกิ่งที่มีดอกกระเจี๊ยบบริเวณโคนกิ่ง
การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
ดอกกระเจี๊ยบที่เก็บเกี่ยวได้นำมากระทุ้งให้กลีบดอกและกระเปาะเมล็ดหลุดออกจากกันโดยใช้เหล็กกระทุ้ง และนำกลีบดอกที่กระทุ้งได้มาตากในภาชนะที่สะอาด ไม่มีฝุ่น ตากแดดประมาณ 5-6 วัน หรืออบให้แห้งสนิท จึงทยอยเก็บ ส่วนกระเปาะเมล็ดให้แยกตาม เมื่อแห้งสนิทให้ร่อนเมล็ดออก นำไปจำหน่ายได้เช่นกัน
สารสำคัญ
กลีบรองดอกมีสารสีแดงจำพวก anthocyanin จึงทำให้มีสีม่วงแดง เช่นสาร cyanidin, delphinidin และมีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น ascorbic acid, citric acid, malic acid และ tartaric acid กรดเหล่านี้ทำให้กระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว และยังพบมีวิตามินเอ Pectin และแร่ธาตุอื่น ๆ ได้แก่ แคลเซียมในปริมาณสูงฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เป็นต้น ใบและยอดอ่อนมีวิตามินเอ แคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณสูง
ผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
การศึกษาในสัตว์ทดลองหรือหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดหรือสารสำคัญของกระเจี๊ยบแดงมีฤทธิ์หลายประการ ดังนี้
1. ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ชาชงหรือสารสกัดด้วยน้ำของกระเจี๊ยบแดงแสดงฤทธิ์ลดความดันโลหิตในหนูขาวได้ กลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ angiotensin converting enzyme
2. ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด เมื่อให้กระต่ายที่กินไขมันสูง กินสารสกัดกระเจี๊ยบ 0.5 % หรือ 1 % นาน 10 สัปดาห์ พบว่าทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ โคเลสเตอรอล และแอลดีแอล-โคเลสเตอรอลลดลงและความรุนแรงของการอุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่จากหัวใจน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ
3. ฤทธิ์ต้านการเกิดพิษต่อตับ มีงานวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่าสารสกัดด้วยน้ำหรือสารสำคัญกลุ่ม anthocyanins และสาร protocatechuic acid ของกระเจี๊ยบสามารถลดความเป็นพิษต่อตับของสารพิษได้หลายชนิด
4. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดด้วยน้ำ และส่วนสกัด mucilage มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของหนูขาว เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดแผลด้วยยาอินโดเมธาซิน, กรด/เอธานอล หรือความเครียด โดยการรักษาปริมาณเมือกที่เคลือบผนังกระเพาะอาหารไว้
ประสิทธิผลในการรักษาจากรายงานการวิจัยทางคลินิก ดังนี้
1.ฤทธิ์ลดความดันโลหิต
การวิจัยทางคลินิกของชาชงกระเจี๊ยบแดงในผู้ป่วย ความดันโลหิตสูงปานกลาง 54 คน เทียบระหว่างกลุ่มที่ได้ชาชงกระเจี๊ยบ (31 คน) กับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ชาชง (23 คน) พบว่าในวันที่ 12 หลังได้รับชาชง ค่าความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัวและเมื่อหัวใจคลายตัว ลดลง 11.2% และ 10.7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับวันแรก ซึ่งแตกต่างจากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ และ 3 วันหลังจากหยุดดื่มชาชงค่าความดันโลหิตทั้งสองค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
2. ฤทธิ์ขับปัสสาวะ
เมื่อให้ผู้ป่วย 50 ราย ดื่มผงกระเจี๊ยบ 3 กรัม ชงน้ำเดือด 1 ถ้วยแก้ว (300 ซีซี) วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วันถึง 1 ปี พบว่า ได้ผลดีในการขับปัสสาวะ
3. การศึกษาในผู้ป่วยโรคทางเดินปัสสาวะ
เมื่อให้ผู้ป่วยโรคนิ่วหรือโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ เนื้องอกของต่อมลูกหมากหลังการผ่าตัด ใช้น้ำดอกกระเจี๊ยบ 3 กรัม มาชงกับน้ำเดือด 1 แก้ว ดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 1 ปี พบว่า 80 % ของผู้ป่วยมีปัสสาวะใสกว่าเดิม และพบว่าทำให้ปัสสาวะเป็นกรดจึงช่วยฆ่าเชื้อในทางเดินปัสสาวะด้วย
ข้อห้ามใช้
ไม่มีข้อมูล
ข้อควรระวัง
กระเจี๊ยบแดงอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย
ขนาดที่ใช้ และวิธีใช้
ใช้เป็นยารักษาอาการขัดเบา โดยนำกลีบเลี้ยงตากแห้งบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำ 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาจะหายไป

1 ความคิดเห็น: